วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

มุ้งนาโน

มุ้งนาโน ฆ่ายุงตายใน 6 วินาที ผลงานของ สวทช.



ทึ่งมุ้งนาโน ไม่ใช่แค่กัน แต่ฆ่ายุงได้ ยืนยันคนปลอดภัย-ฝีมือไทยทำ (ไทยโพสต์)

          เผยผลสำเร็จผลิต "มุ้งนาโน" หรือ "มุ้งพิฆาตยุง" อาศัยกระบวนการนาโนเทคโนโลยีผลิตเส้นใยมุ้งที่มีสารกำจัดยุงให้ตายฉับพลัน เตรียมพร้อมถ่ายทอดความรู้สู่อุตสาหกรรมสิ่งทอผลิตจำหน่ายภายในประเทศ ระบุไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์

          เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย รังสิต จังหวัดปทุมธานี ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงผลสำเร็จในการพัฒนา "มุ้งนาโน" ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการป้องกันยุงและกำจัดยุงได้ภายใน 6 วินาที

          โดย ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า การผลิตมุ้งนาโนกำจัดยุงได้อาศัยกระบวนการนาโนเทคโนโลยี 2 วิธีคือ การนำสารสังเคราะห์ที่เลียนแบบจากสารสกัดธรรมชาติมาผสมเข้ากับเม็ดพลาสติกแล้วฉีดเป็นเส้นใยทำมุ้ง และการนำสารสังเคราะห์มาเคลือบเส้นใยมุ้ง วิธีนี้จะทำให้สารกันยุงติดอยู่ในเส้นใยมุ้งทนนานยิ่งขึ้น ขณะนี้ได้เตรียมพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อผลิตวางจำหน่ายออกสู่ตลาดต่อไป คาดว่าราคาจะอยู่ที่ประมาณ 200 บาท

          รมว.วท. กล่าวว่า มีนโยบายให้หน่วยงานนำผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ เนื่องจากเห็นว่า มุ้งนาโน กำจัดยุงมีศักยภาพที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันส่งออกมุ้งได้เพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันยังผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ ซึ่งมีตัวเลขว่าประเทศไทยสั่งนำเข้ามุ้งฆ่ายุงจากต่างประเทศ จำนวน 200,000-250,000 หลังต่อปี ราคา 250 - 500 บาทต่อหลัง ทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายการนำเข้ามุ้งต่างประเทศได้อีกมาก ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตมุ้งรายใหญ่ โดยมียอดส่งออกมากกว่า 1 ล้านหลังต่อปี แต่เป็นมุ้งที่ไม่มีการเคลือบสารกำจัดยุง เพราะฉะนั้นจึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ผู้ผลิตสิ่งทอ เพื่อให้เกิดการแข่งขันและสินค้ามีราคาถูก

          "มุ้งนาโนกำจัดยุงเป็นวิธีหนึ่งในการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข คือ โรคติดเชื้อที่มียุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย โรคชิคุนกุนยา โรคเท้าช้าง และโรคไข้สมองอักเสบ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโรคเหล่านี้จำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่แถบชายแดนไทย-พม่า ไทย-กัมพูชา และไทย-มาเลเซีย ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้แนะนำว่ามุ้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันยุงได้ ดังนั้น จึงต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเผยแพร่มุ้งนาโนกำจัดยุงให้มีความนิยมใช้มากขึ้น" ดร.วีระชัยกล่าว

          ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ระบุว่า สาระสำคัญที่ใช้ในการผลิตมุ้งฆ่ายุงคือ สารสังเคราะห์ทางเคมีชื่อ Deltamethrin ที่เลียนแบบจากสารสกัดในธรรมชาติชนิดที่มีคุณสมบัติป้องกันยุง เช่น ดอกเก๊กฮวย ดอกดาวเรือง โดยมีกลไกการทำงานคือ สารสังเคราะห์ชนิดนี้จะซึมผ่านประสาทสัมผัสยุงที่ปลายขา ซึ่งมีความไวต่อสารกลุ่มนี้เป็นพิเศษ มีผลต่อระบบประสาทของยุงทำให้ช็อกภายในเวลา 6 วินาที และตายในที่สุด ทั้งนี้ มุ้งนาโนจะใช้ฆ่ายุงก้นปล่องและยุงรำคาญเป็นหลัก และยังมีฤทธิ์จำกัดแมลงอีกหลายชนิด แต่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้งานอย่างแน่นอน

          "ด้วยนวัตกรรมการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ทั้งแบบเส้นใยเดี่ยวและเส้นใยผสม ทำให้สามารถผสมสารสังเคราะห์ดังกล่าวฝังอยู่ในเม็ดพลาสติกก่อนฉีดออกมาเป็นเส้นใยมุ้ง ทำให้สารกันยุงติดทนถาวรและสามารถซักทำความสะอาดได้มากกว่า 30 ครั้ง นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มประโยชน์ใช้งานอื่น ๆ เช่น ฆ่าเชื้อจากการเติมอนุภาคนาโนซิลเวอร์ลงไปในเส้นใยอีกด้วย" ผอ.นาโนเทค กล่าวว่า ได้เตรียมต่อยอดงานวิจัยไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์กำจัดยุงได้อีกหลายชนิด เช่น ผ้าม่าน เสื้อ และสายรัดข้อมือ รวมทั้งเครื่องแบบตำรวจทหารและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงในป่าอีกด้วย



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก masterorg.wu.ac.th

วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554